ยินดีต้อนรับเข้าสู่บล็อกของฉัน ด้วยความยินดียิ่งค่ะ ^_^

วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

Assingment 6

งานทำอินิเมชั่น

เรื่อง  การพัฒนาสมองของเด็กปฐมวัย



การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐาน (Brain-based Learning) สำหรับเด็กปฐมวัย



            
           ช่วงระยะเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ของมนุษย์คือ  แรกเกิดถึง 7 ปี  หากมาส่งเสริมหลังจากวัยนี้แล้วถือได้ว่าสายเสียแล้ว เพราะการพัฒนาสมองของมนุษย์ในช่วงวัยนี้จะพัฒนาไปถึง 80 % ของผู้ใหญ่  ครูควรจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก  ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น  เรียนรู้อย่างมีความสุข  จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ดูแลด้านสุขนิสัยและโภชนาการเหมาะสม  เด็กจึงจะพัฒนาศักยภาพสมองของเขาได้อย่างเต็มความสามารถ

การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐาน (Brain-based Learning) เกี่ยวข้องกับเรื่องสำคัญ 3 ประการ คือ




1.)การทำงานของสมอง  
2.)การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก 
3.)กระบวนการจัดการเรียนรู้โดยเปิดกว้าง            
ให้เด็กเรียนรู้ได้ทุกเรื่อง เนื่องจากสมองเรียนรู้ตลอดเวลา ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติหรือลงมือกระทำด้วยตนเอง  ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบร่วมมือและผู้เรียนได้เรียนรู้แบบบูรณาการ การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐานส่งเสริมให้เด็กไทยได้พัฒนาศักยภาพสมองของเขาอย่างเต็มความสามารถ           

 การทำงานของสมอง

            สมองเริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่  เมื่อคลอดออกมาจะมีเซลล์สมองเกือบทั้งหมดแล้วเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่  สมองยังคงเติบโตไปได้อีกมากในช่วงแรกเกิดถึง 3 ปี เด็กวัยนี้จะมีขนาดสมองประมาณ 80 % ของผู้ใหญ่  หลังจากวัยนี้ไปแล้วจะไม่มีการเพิ่มเซลล์สมองอีกแต่จะเป็นการพัฒนาของโครงข่ายเส้นใยประสาท  ในวัย 10 ปีเป็นต้นไปสมองจะเริ่มเข้าสู่วัยถดถอยอย่างช้าๆจะไม่มีการสร้างเซลล์สมองมาทดแทนใหม่อีก  ปฐมวัยจึงเป็นวัยที่มีความสำคัญยิ่งของมนุษย์            สมองของเด็กพัฒนาจากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กพบว่า  ทักษะความคล่องตัวของกล้ามเนื้อมัดเล็กจะพัฒนาภายในช่วงเวลา  10 ปีแรก  ดังนั้นถ้าหากเด็กได้ฝึกฝนการใช้มือ  การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของมือจะทำให้สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อและสร้างไขมันล้อมรอบเส้นในสมอง  และเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้มาก  ทำให้เกิดทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก


การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก


            การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพทางสมองจำเป็นต้องคำนึงถึงกระบวนการทำงานของสมองและการทำงานให้ประสานสัมพันธ์ของสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา  สมองซีกซ้ายควบคุมความมีเหตุผลเป็นการเรียนด้านภาษา จำนวนตัวเลข วิทยาศาสตร์ ตรรกศาสตร์ การคิดวิเคราะห์           ในขณะที่สมองซีกขวาเป็นด้านศิลปะ  จินตนาการ  ดนตรี ระยะ/มิติ หากครูสามารถจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เด็กได้ใช้ความคิดโดยผสมผสานความสามารถของการใช้สมองทั้งสองซีกเข้าด้วยกันให้สมองทั้งสองซีกเสริมส่งซึ่งกันและกัน  ผู้เรียนจะสามารถสร้างผลงานได้ดีเยี่ยม เป็นผลงานมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสามารถแสดงความมีเหตุผลผสมผสานในผลงานชิ้นเดียวกัน            

หลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัยควรคำนึงถึงการเรียนรู้ในด้านต่างๆดังนี้  

1.      การเคลื่อนไหวของร่างกาย  ฝึกการยืน เดิน วิ่ง จับ ขว้าง กระโดด การเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างๆที่เราต้องการ  หรือพวกนักกีฬาต่างๆ



2.      ภาษาและการสื่อสาร เป็นการใช้ภาษาสื่อสารโดยการปฏิบัติจริง จากการพูด การฟัง  การอ่านและการเขียน  เช่น ให้เด็กเล่าสิ่งที่เขาได้พบเห็น ได้ลงมือกระทำ  ฟังเรื่องราวต่างๆที่เด็กต้องการเล่าให้ฟังด้วยความตั้งใจ เล่านิทานให้ลูกฟังทุกวัน



  3.      การรู้จักการหาเหตุผล ฝึกให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต การเปรียบเทียบ จำแนกแยกแยะสิ่งต่างๆ  จัดหมวดหมู่สิ่งของที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน  เรียนรู้ขนาด ปริมาณ  การเพิ่มขึ้นลดลง  การใช้ตัวเลข 




            4. มิติสัมพันธ์และจินตนาการจากการมองเห็น ให้เด็กได้สัมผัสวัตถุต่างๆที่เป็นของจริง  เรียนรู้สิ่งต่างๆจากประสบการณ์ตรง  เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ระยะ  ขนาดตำแหน่ง  และการมองเห็น  สังเกตรายละเอียดของสิ่งต่างรอบตัว  เข้าใจสิ่งที่มองเห็นได้สัมผัส  สามารถนำสิ่งที่เข้าใจออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้



            5. ดนตรีและจังหวะ  ให้เด็กได้ฟังดนตรี แยกแยะเสียงต่างๆ  ร้องเพลง เล่นเครื่องดนตรี  ฝึกให้เด็กรู้จักจังหวะดนตรี
            6. การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น  ฝึกให้เด็กอยู่ร่วมกับผู้อื่นในด้านการช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน เข้าใจผู้อื่น เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น  ปฏิสัมพันธ์ในสังคมของมนุษย์เป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้และสติปัญญา


            7. การรู้จักตนเอง รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตนเอง เข้าใจตนเอง จะทำให้ดูแลกำกับพฤติกรรมตนเองได้อย่างเหมาะสม            
            8. การปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ


ผู้ปกครองมีบทบาทอย่างไรในการช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก

1. ให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยการลงมือกระทำโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 
2.  ให้เด็กได้พูดในสิ่งที่เขาคิด และได้ลงมือกระทำ  ถ้าไม่ได้พูดสมองไม่พัฒนา  ต้องฝึกให้ใช้สมองมากๆอย่างมีความสุข  ไม่ให้เครียด
3.  ผู้ใหญ่ต้องรับฟังในสิ่งที่เขาพูดด้วยความตั้งใจ  และพยายามเข้าใจเขา


สารอาหารบำรุงสมอง



           อาหาร 5 หมู่มีส่วนบำรุงสมองทั้งสิ้น โดยเฉพาะทารกในครรภ์  อาหารจะเข้าไปช่วยสร้างเซลล์สมอง  เมื่อคลอดออกมาแม่ต้องรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่เช่นเดิม  เมื่อลูกโตขึ้นปริมาณของน้ำนมของแม่ไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงต้องให้อาหารเสริม  ถ้าขาดสารอาหารเซลล์สมองจะเติบโตช้าและมีจำนวนน้อยลง  เส้นใยประสาทมีการสร้างไม่ต่อเนื่อง          
           ตับและไข่  เด็กปฐมวัยต้องการธาตุเหล็กจากตับหรือไข่ ถ้าเด็กไม่กินตับหรือไข่  และหรือกินในปริมาณที่ไม่เพียงพอจะทำให้ความจำและสมาธิด้อยลง           ปลา  สารจากเนื้อปลาและน้ำมันปลามีส่วยสำคัญต่อการพัฒนาความจำและการเรียนรู้เสริมสร้างการเจริญเติบโตของปลายประสาทที่เรียกว่า เดนไดร์  ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงสัมพันธ์เรื่องราวที่เรียนรู้จากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง อธิบายได้ว่าทำให้เด็กเข้าเรื่องที่เรียนรู้ได้ง่ายและเร็วควรให้เด็กรับประทานเนื้อปลาทุกวันหรือ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะเนื้อปลาทะเลเช่น ปลาทู  ปลากระพง และปลาตาเดียว เป็นต้น
           ผักและผลไม้  ผักที่มีสีเขียว  เหลืองหรือแดง  อาหารเหล่านี้ให้วิตามินซี เพื่อนำไปสร้างเซลล์เยื่อบุต่างๆทั่วทั้งร่างกายและวิตามินเอทำให้เซลล์ประสาทตาทำงานได้เต็มที่ ซึ่งส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมในการพัฒนาสมอง           วิตามินและเกลือแร่ ช่วยในการทำงานของเชลล์ในการเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสให้เป็นพลังงาน ถ้าขาดจะทำให้เชลล์สมองมีการทำงานลดลงและเชื่องช้าจะกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก           ปลา ไก่ หมู นมและอาหารทะเล อาหารเหล่านี้มีแร่ธาตุต่างๆเช่น เหล็ก ทองแดง แมกนีเซียม  สังกะสี ฟอสฟอรัสและไอโอดีน  มีผลต่อการทำงานของเซลล์สมอง           ผักตระกูลกะหล่ำ(ทำให้สุก) ข้าวสาลี และน้ำนมแม่ สามารถไปยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระที่อาจจะทำลายเซลล์สมองได้          
           การพัฒนาศักยภาพทางสมองของเด็ก ขึ้นกับ อาหาร  พันธุกรรม  สิ่งแวดล้อมต่างๆ และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การมีโอกาสได้ใช้ความคิดอยู่เสมอ  ให้เด็กมีโอกาสคิดในหลากหลายแบบเช่น คิดแสวงหาความรู้ คิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์  คิดอย่างมีวิจารณญาณ  คิดกว้าง คิดไกล  คิดเชิงอนาคต  คิดนอกกรอบ  ผู้ปกครองหรือครูควรจัดกิจกรรมให้เด็กได้ฝึกการคิดอย่างเหมาะสมกับวัย และมีความสุขในขณะที่ฝึก  สมองจึงจะพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ